10 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มฝึกโยคะ


No.1 ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ คนที่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฝึก
จริงอยู่ที่โยคะถูกนำมาใช้ควบคู่กับบำบัดโรคหลายๆ อย่าง แต่ในท่าแต่ละท่าก็มีบางจุดที่อาจเป็นอันตรายกับโรคบางโรคได้
เช่น คนที่มีความดันโลหิตสูงและต่ำไม่ควรทำท่าก้มศีรษะ คนที่มีปัญหาที่คอจะไม่สามารถแหงนและบิดคอมากๆ ได้ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรให้แพทย์ยืนยันก่อนว่าสามารถฝึกได้ (เอาหนังสือโยคะท่าที่อยากจะฝึกไปให้ดูเลยนะคะ) และควรฝึกโดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

No.2 ควรฝึกในห้องโล่ง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์เกะกะ และไม่มีเสียงรบกวน
เลือกสถานที่ๆ ทำให้จิตใจเราสงบผ่อนคลายที่สุด หลีกเลี่ยงที่ๆ มีเสียงดังเพราะจะรบกวนสมาธิ ส่วนอุปกรณ์ในการฝึกนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม นอกจากพวกเสื่อโยคะต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วถ้ามีพรมหรือเสื่อก็ใช้แทนได้


No.3 ไม่ควรฝึกหลังอาหารทันที
ก่อนฝึกควรเว้นช่วงอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการจุก และถ้าเป็นไปได้ควรขับถ่ายก่อน นอกจากนั้นควรเลือกเสื้อผ้าสวมใส่สบายพอดีตัว ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป และหลังจากฝึก ควรเว้นช่วงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จึงจะทานอาหารหนักได้


No.4 ระลึกไว้เสมอว่า หัวใจสำคัญของโยคะคือการผ่อนคลาย
แม้หลายๆ คนอาจฝึกโยคะเพื่อต้องการมีรูปร่างสมส่วน หรือฝึกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่ก็อย่ามุ่งหวังที่ผลเหล่านั้นมากจนเกินไป ระหว่างฝึกควรปล่อยจิตใจให้สบาย เป็นสมาธิ ให้ร่างกายรู้สึกว่าผ่อนคลายที่สุด เมื่อเป็นดังนั้นได้แล้ว ผลที่ตามมาก็จะดีเอง


No.5 ทำความเข้าใจในแต่ละท่าที่จะฝึกให้ดีก่อนนำมาปฏิบัติ
ท่าโยคะเดี๋ยวนี้หาได้ง่ายตามอินเทอร์เน็ต แต่อยากเตือนว่า อย่าดูท่าทางแค่ผ่านๆ แล้วรีบทำตามในทันที ควรศึกษาอ่านข้อแนะนำ คำเตือนให้ดีก่อนว่าแต่ละท่าควรปฏิบัติอย่างไร หายใจอย่างไร และให้ความสำคัญกับคำเตือนในแต่ละท่า ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้


No.6 ผู้ฝึกใหม่ ตอนแรกไม่ต้องกังวลกับการหายใจ ให้ฝึกท่าก่อน
การหายใจแบบโยคะจะไม่เหมือนการหายใจแบบปกติ คนฝึกใหม่หลายๆ คนอาจไม่ชินและเป็นกังวลมากไประหว่างฝึกจนบางทีก็ทำท่าผิดพลาด ผู้เขียนแนะนำให้ทำใจให้สบาย หายใจปกติไปก่อนถ้ายังทำแบบโยคะไม่ได้ ฝึกท่าแต่ละท่าให้เชี่ยวชาญเสียก่อนแล้วค่อยมาดูเรื่องการหายใจ

และแนะนำว่า การหายใจ ควรหายใจเข้าออกทางจมูก ไม่ต้องอ้าปากสูดหายใจ ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องหายใจทางปากเพราะรู้สึกหายใจไม่ทัน แสดงว่าคุณฝืนมากเกินไปแล้ว ให้ค่อยๆ คลายจากท่าที่กำลังฝึกแล้วมาอยู่ในท่าพัก


No.7 เริ่มจากท่าง่ายไปท่ายาก อย่าก้าวกระโดด
บางคนอาจใจร้อนอยากทำท่ายากให้ได้เร็วๆ แต่ถ้าร่างกายยังไม่พร้อมและเราไม่ได้ศึกษามาดีพอ ก็อาจเกิดอาการบาดเจ็บได้


No.8 อย่าเกร็ง อย่ารีบร้อน
หัวใจสำคัญในการฝึกโยคะคือการทำให้ร่างกายผ่อนคลายที่สุด ท่าแต่ละท่าที่ฝึกผู้ฝึกควรจะสามารถทำได้อย่างสบายๆ เมื่อไหร่ที่ปฏิบัติโยคะแล้วรู้สึกอึดอัด เจ็บปวด ให้ค่อยๆ คลายตัวมาอยู่ในท่าพัก ส่วนท่าไหนรู้สึกว่าต้องฝืน ไม่อย่างนั้นจะทำไม่ได้ก็ไม่ควรฝึก หรือหากอยากฝึกควรให้ครูฝึกแนะนำว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร

และที่สำคัญ แต่ละท่าควรปฏิบัติอย่างช้าๆ อย่ากระตุก รีบเร่ง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวได้เจ็บตัวแน่ๆ ค่ะ


No.9 “ห้าม” ฝืนร่างกายตัวเอง
ในท่าบางท่าคุณอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ครูฝึกทำ เช่น ท่าที่ต้องก้มตัวเอามือแตะพื้น แตะปลายเท้า ก็ไม่ควรฝืนให้ตัวเองแตะให้ได้ สิ่งที่คุณควรจะทำคือ ทำให้มากสุดเท่าที่เราสามารถทำได้ โดยที่ร่างกายยังรู้สึกผ่อนคลายอยู่


No.10 อย่ามองถึงผลที่อยากได้ แต่มองที่ความคืบหน้า
การฝึกโยคะนั้นถ้าปฏิบัติอย่างถูกวิธี ยืนยันได้ว่าต้องได้ผลดีกับร่างกายอย่างแน่นอน (ปฏิบัติทุกวันอย่างต่อเนื่องสัก 1 เดือนก็เห็นผลแล้วค่ะ) เพียงแต่ผลที่ได้อาจช้าไม่ตรงกับเป้าหมายที่หวังไว้ ใครที่กำลังรู้สึกอย่างนี้อยากให้ปรับมุมมองเสียใหม่ และดูความแตกต่างระหว่างก่อนฝึกจนถึงปัจจุบัน เชื่อได้เลยว่าคุณจะต้องเห็นความแตกต่างค่ะ มองแบบนี้ดูมีกำลังใจขึ้นกว่าเดิมเยอะ
ที่มา: pawi-kat.exteen.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

link

ข่าวเกม ข่าวไอที ข่าวอีสปอร์ต